เคลือบแก้ว 9H คืออะไร
- ก.พ. 2, 2019
- 0
- ข้อมูลความรู้ บทความ
เคลือบแก้ว 9H คืออะไร???
จากบทความเกี่ยวกับ เคลือบแก้ว เคลือบเซรามิคต่างกันอย่างไร (คลิ๊ก) สำหรับท่านที่สนใจจะนำเอารถไปทำการ เคลือบแก้ว นอกจากจะต้องหาข้อมูลว่า ศูนย์บริการเคลือบแก้ว เจ้าไหนให้บริการได้ดีมีคุณภาพและมีบริการหลังการขายที่ดีแล้ว อีกเรื่องที่ควรทำความเข้าใจก็คือ เรื่องของ น้ำยาเคลือบแก้ว ที่เขาจะเอามาใช้กับรถเรานั้นมีคุณสมบัติเป็นอย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากมีน้ำยาอยู่หลายชนิดหลายยี่ห้อ มีส่วนผสมของสารที่ให้การปกป้องที่แตกต่างกันไปตามแต่สูตรของผู้ผลิต ดังนั้นจึงควรสอบถามผู้ประกอบการให้ทราบด้วยในเรื่องนี้… และสิ่งหนึ่งที่มักได้ยินกันเป็นประจำก็คือ เรื่องของตัว H ที่มีมักมีการระบุมาในเวลาที่เราจะไปทำ เคลือบแก้ว ซึ่งก็จะมีตั้งแต่ 6H , 7H และ ที่ฮิตที่สุดและพูดถึงกันมากที่สุดปัจจุบันก็คงจะเป็น เคลือบแก้ว 9H ซึ่งบางท่านก็อาจจะสงสัยว่า เจ้าตัวเลขที่ตามด้วยตัว H นี่มันคืออะไร เป็นชื่อของน้ำยา สารเคมี หรือ เป็นเรื่องไหน ทำไมต้องมีการนำมาอ้างถึงเสมอเมื่อเราจะไปรับบริการทำ เคลือบแก้วรถ
ตัว H ที่พูดถึงในการทำเคลือบแก้ว คืออะไร
ตัว H ที่เราเห็นอยู่ตามหลังตัวเลข เวลาพูดถึงเรื่อง เคลือบแก้ว แท้จริงแล้วเจ้า H ตัวนี้เป็นตัวย่อของคำว่า Hardness อันหมายถึงความแข็ง เพราะฉะนั้น การระบุตัวเลขด้านหน้า ไม่ว่าจะเป็น 6 – 9 นั่นคือการบอกระดับค่าของความแข็งนั่นเอง ดังนั้นถ้ายิ่งมีตัวเลขสูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีค่าความแข็งของฟิล์มสูงขึ้นเท่านั้น
ความแข็งระดับ 9H ของการเคลือบแก้ว คืออะไร
ค่าความแข็งของการเคลือบแก้ว ปัจจุบันมักจะได้ยินกันบ่อยๆคือเคลือบแก้วระดับ 9H แต่แท้จริงแล้วรู้หรือไม่ว่าระดับความแข็งที่นำมาอ้างสรรพคุณกันน่ะ ไม่ได้เป็นค่าความแข็งที่วัดตามความแข็งของแร่(ตามมาตราโมส) แต่เป็นเพียงค่าการทดสอบตามแรงกดของดินสอเท่านั้นเอง ความสับสน เรื่องเคลือบแก้ว 9H บางแห่งอาจมีถึง 10H นั่นเป็นความแข็งระดับไหน ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ความแข็งของแร่(ของโมส์) (Mohs scale of mineral hardness) คือการวัดระดับความแข็งตามระดับของแร่ต่างๆ (ฟิดริช โมส์คือนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันผู้ค้นพบ) เช่น เพชรมีความแข็งเท่ากับ 10H หรืออื่นๆ ตารางการเปรียบเทียบความแข็งของแร่ตามมาตราโมส
ทีนี้ มันก็มีประเด็นที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องค่าความแข็งของเคลือบแก้วอาจจะคลาดเคลื่อนไป เช่น ถ้าบอกว่าเคลือบแก้ว 9H หรือ 10H นี่ เท่ากับเราเอาเพชรไปเคลือบเลยหรือ? หรือหากดูแค่ค่าความแข็งที่บอกว่าสารตั้งต้นมาจาก Sio2 นี่ตามมาตราโมสมีค่าความแข็งแค่ 7H ทำไมถึงมีการโฆษณาว่ามีความแข็งระดับ 9H เป็นไปได้อย่างไร? เป็นต้น แนะนำว่า ให้เราลืมเรื่องความแข็งแร่ตามมาตราของโมสไปเลยดีที่สุด ไม่ว่าน้ำยาเคลือบแก้วยี่ห้อไหนจะบอกว่าผลิตมาจากสารอะไร ส่วนประกอบอะไร เพราะแท้จริงแล้วค่าความแข็งที่นำมาวัดค่าของผลิตภัณฑ์เคลือบแก้ว หรือจะเรียกว่าเคลือบเซรามิคก็แล้วแต่ นั้นใช้การวัดระดับความแข็งจากแรงกดของดินสอ หรือ Hardness of Pencil scale ไม่ได้ใช้การวัดค่าความแข็งตามมาตราโมสแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อน้ำยาเคลือบแก้วเกิดปฏิกิริยาที่เราเรียกง่ายๆว่า เซ็ตตัวกลายเป็นของแข็งแล้ว จะไม่ได้มีความแข็งตามมาตราของโมสแต่อย่างใด เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว เรื่องความสับสนของคนที่พยายามหาข้อมูลผลิตภัณฑ์เคลือบแก้วที่คิดว่าดีที่สุด จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะ ไม่ว่าการโฆษณาของสารประกอบของน้ำยาเคลือบแก้วนั้นจะใช้เป็นสารประกอบตัวใด สุดท้ายก็ไม่สามารถนำค่าความแข็งตามมาตราโมสไปเทียบได้ หรือ สารตั้งต้นน้ำยาเคลือบแก้วที่ทำมาจาก Sio2 ก็สามารถมีค่าความแข็งในระดับ 9H ได้ตามมาตราของแรงกดดินสอนั่นเอง เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว อีกเรื่องที่จะเข้าใจเพิ่มเติมคือ เคลือบแก้วไม่ใช่เคลือบเพชรแน่ๆ มันไม่ได้ปกป้องได้ทั้งจักรวาลแน่นอน ยังไงก็จะต้องมีการบำรุงรักษา หรือแม้กระทั่งเติมซ้ำ เพราะฉะนั้น การหาข้อมูลเรื่องเคลือบแก้วว่าที่ไหนดี ก็ควรดูที่รายละเอียด หรือผลงานการบริการหลังการขาย และการรับประกันควบคู่ไปด้วยถึงจะดีที่สุด